เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารคอซิมบี้ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ดร.โชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค, นายธีระ อนันตเสรีวิทยา, นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายเสถียร แก้วพระปราบ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือการดำเนินการตามแนวทางการสร้างสังคมเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านระบบ Video Conference มาจาก ห้องประชุม 1 กระทรวงมหาดไทย โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม และมีนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมชี้แจงการดำเนินการตามแนวทางการสร้างสังคมเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ เสมียนตราอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั่วประเทศได้รับทราบ
นายกฤษฎา บุญราช เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแนวทางการสร้างสังคมเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นในขณะนี้คือ
1. การค้นหาศักยภาพของตัวเอง จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภูมิภาค รวมทั้งต้องหาศักยภาพระหว่างกันให้เจอ ทั้งระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ หาแนวทางร่วมมือกัน ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้โดยเร็ว ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี
2. การลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด เกิดความเป็นสากลให้ได้มากที่สุด
3. การสร้างห่วงโซ่ อุปสงค์ อุปทาน ให้ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการสร้างเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในการแปรรูป เพิ่มมูลค่าไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ให้ได้โดยเร็ว
4. การพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มการวิจัยพัฒนาให้ได้โดยเร็ว นำสู่การผลิตทั้งด้วยฝีมือคนไทยและความร่วมมือจากต่างประเทศในด้านบุคลากร ทั้งการวิจัยและพัฒนา ร่วมมือกันด้วยกลไกประชารัฐ
5. การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากร ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการประกอบการ ให้มีผลกำไรมากขึ้น ที่จะต้องสนับสนุนทั้งภาคประชาชนและภาคเกษตรกรในเศรษฐกิจฐานราก
6. จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถทั้งในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี Start Up จึงจำเป็นต้องทำให้คืบหน้าเพื่อตัวเราเองและเพื่อประชาคมโลก รวมทั้งจะต้องสร้างห่วงโซ่ใหม่เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเร็ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องคิดร่วมกันผนึกกำลังกันไปให้ได้ ซึ่งการจะเกิดไทยแลนด์ 4.0 ได้ จะต้องมีการเจริญเติบโตภายใน และสร้างการเจริญเติบโตจากภายนอกให้เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ทั้งสองด้านสมดุลกัน