อากาศร้อนกับเมืองไทยเป็นเรื่องคู่กันคงไม่มีใครปฏิเสธ ยิ่งจังหวัดภูเก็ตช่วงนี้บอกได้เลยว่าร้อนมากถึงมากที่สุด และ ยังเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษมากที่สุดอีกด้วย
สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษปีที่ผ่านมา จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคเฉพาะครึ่งปีแรกนั้น พบผู้ป่วยถึง 5 หมื่นราย และ พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี รองลงมาอายุ 45 – 54 ปี และ อายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ โดย นายแพทย์ปริวรรธน์ ระเด่น อายุรแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลสิริโรจน์ ได้กล่าวถึงโรคอาหารเป็นพิษว่า มักพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เนื่องจากเชื้อโรคมักเจริญเติบโตได้ดีในอาหาร หากปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจก่อให้เกิดสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ
อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลว หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือมูกปนเลือดมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน และอาจเกิดอาการปวดบิดมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย บางคนอาจมีไข้ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
ด้านคุณภัทรวรรณ เชื้อชิต นักโภชนาการ โรงพยาบาลสิริโรจน์ กล่าวถึงการเลือกรับประทานอาหารในช่วงหน้าร้อนว่า ควรเน้นอาหารที่ผ่านการปรุงสุกใหม่ๆ ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ขนมจีน ซึ่งมีส่วนผสมของแกงกะทิ รวมถึงอาหารรสจัด เช่น ส้มตำ แกงไตปลา เพราะอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป จะทำให้ลำไส้ทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้