ส้มแขก ไม้ยืนต้น มากคุณค่า กว่าที่คิด
สาระน่ารู้

ส้มแขก ไม้ยืนต้น มากคุณค่า กว่าที่คิด

ส้มแขกเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Clusiaceae มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดียจนถึงแหลมมลายูและประเทศไทย ส้มแขกในประเทศอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia cambogia Desr. ส้มแขก ในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia atroviridus หรือ Garciania atroviritis Griff ชื่อสามัญ Malabar Tamarind

ส้มแขกมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น
ตรัง เรียกว่า ส้มควาย
ปัตตานี เรียกว่า ส้มพะงุน
ภาคใต้ทั่วไป เรียกว่า มะขามแขก

* สายพันธุ์ที่พบใน ภูเ็ต พังงา ระนอง และ กระบี่ ชาวพื้นเมืองเรียกส้มแขกชนิดนี้ว่า ส้มควาย ซึ่งโดยส่วนมากชาวบ้านจะนำส้มแขกหรือส้มควายเพื่อปรุงอาหารให้มีรสชาติเปรี้ยว

ลักษณะของส้มแขก

ลักษณะของต้น เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง หากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ มียางสีเหลือง

ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบใหญ่มีผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร

ลักษณะของดอก ส้มแขกจะออกดอกตามปลายยอด ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียวมีเกสรเพศผู้ เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่า ดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก

ลักษณะของผล ส้มแขกจะออกผลเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ เปลือกผลเป็นร่องตรมแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้นๆละ 4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด

ผลส้มแขก มีสารสำคัญที่มีชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้นๆว่า “HCA” ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตนอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่นๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็น กรดซิตริก (Citric Acid) กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid) กรดออคตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และ กรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)

คำแนะนำ: สำหรับผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มแขก มีปริมาณ HCA ที่สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร เพราะสารชนิดนี้จะไปรบกวนการสร้าง Fatty Acid, Acetyl coenzyme A รวมไปถึง Cholesterol ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้าง Steroid Hormone ได้นั่นเอง และ สำหรับบุคคลทั่วไป การรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

สรรพคุณของส้มแขก

  • ดอกส้มแขกใช้บรรเทาอาการไอ
  • ดอกส้มแขกใช้เป็นยาขับเสมหะ
  • ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • ผลแก่นำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้ หรือจะใช้ร่วมกับดอกก็ได้
  • ใช้เป็นยาสมุนไพรช่วยฟอกโลหิต
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ดอกตัวผู้แห้งมาต้มกับน้ำ (อัตราส่วน 7 ดอก ต่อน้ำ 1 ลิตร) เติมน้ำครั้งที่สองใส่ 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดย ไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม
  • มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ
  • ใช้รากเป็นยาแก้กระษัย ด้วยการนำรากมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู
  • ช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากผลส้มแขกมีกรดไฮดรอกซีซิตริก (HCA) มีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักและช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้
  • ส้มแขกช่วยลดความอ้วย โดยกระตุ้นให้มีการดึงเอาไขมันที่สะสมในร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลงอย่างช้าๆ ประมาณ 1 กิโลกรัมภายใน 3-4 อาทิตย์

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.