เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 เวลา 20.30 น. ที่เวทีกลางสะพานหิน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต นายธีระ เจี่ยสกุล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดงาน “ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเอ็กซ์โป ประจำปี 2560” (Phuket Andaman Halal Expo 2017) โดย ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี ซึ่งนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายมาโรจน์ ทองย่น ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน โดยมี ดร.ไกรวุฒิ คุ้มบ้าน เลขานุการสภา อบจ.ภูเก็ต คณะสมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ อบจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ สื่อมวลชน แขกมีเกียรติ และประชาชน เข้าร่วมงาน
นายธีระ เจี่ยสกุล ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า “การจัดงานภูเก็ตอันดามันฮาลาล ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดงานส่วนที่ 1 งานสัมมนา “วิชาการฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ปี 2560” เป็นการประชุมสัมมนา โดยเชิญ เอเจนซี่การท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ ได้มาประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจเกี่ยวกับฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะ เมโทรโพล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
การจัดงานส่วนที่ 2 งาน “ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเอ็กซ์โป ประจำปี 2560” เป็นงานภาคประชาชน กิจกรรมการแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม การออกร้านสินค้า OTOP ของจังหวัดภูเก็ต อันดามัน และภาคใต้ การออกร้านอาหารมุสลิมกว่า 80 ร้าน กิจกรรมบนเวที การขับร้องอะนาซีด การแสดงของเยาวชน ในปีนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ฮาลาล ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์กับการผลิตอาหารฮาลาล สาธิตการทดลองการวิเคราะห์อาหารอย่างง่ายๆ ตามแนวทาง “ฮาลาลพัฒนาชีวิตพอเพียง” การจัดนิทรรศการเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม และจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวฮาลาลของจังหวัดภูเก็ต (Halal Route) โดยได้จัดขึ้น เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 4-6 สิงหาคม 2560”
นายธีระ กล่าวต่ออีกว่า “การจัดงานภูเก็ตอันดามันฮาลาล ทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ อบจ.ภูเก็ต ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์สมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจ สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวและฮาลาลทั้งต่างประเทศและในประเทศ กลุ่มผู้นำอิสลาม รวมถึงประชาชนทั่วไป
อบจ.ภูเก็ต มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพธุรกิจฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้าและบริการฮาลาลในจังหวัดภูเก็ต ในการปรับปรุงร้านค้าและบริการให้ถูกต้องตามหลักศาสนา ผ่านการตรวจรองรับจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” และเพื่อประโยชน์ของชาวภูเก็ต รวมทั้งประเทศชาติโดยรวมต่อไป”
ด้าน ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “อาหารฮาลาล เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมในการบริโภค และผู้ที่มิใช่มุสลิม หากบริโภคอาหารฮาลาลก็จะได้ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน ปัจจุบันอาหารฮาลาล เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมไทย มิใช่เพียงแต่ชาวไทยมุสลิมที่จำเป็นต้องบริโภคอาหารฮาลาลเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการซึ่งต้องการผลิตอาหารฮาลาลจำหน่ายแก่ผู้บริโภคมุสลิมในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกในตลาดโลกมุสลิม ก็จำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง ประกอบกับประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ตลาดโลกมุสลิมมีประชากรผู้บริโภคประมาณ 2,000 ล้านคน ดังนั้น อาหารฮาลาลจึงเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องให้ความสนใจเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้มากขึ้น ผู้ผลิตเองก็ต้องให้ความสนใจในเครื่องหมายนี้อย่างจริงจัง ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ และอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อเตรียมความพร้อมของการผลิต สร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศต่อไป”
ดร.ชวนี กล่าวอีกว่า “รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก และได้แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุดิบ การส่งเสริมผู้ประกอบการ การแสวงหาตลาด และการพัฒนากลไกการรับรองมาตรฐานฮาลาลให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การจัดงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว ยังได้รับการบริการอาหารฮาลาลที่ถูกต้อง ปลอดภัย และได้มาตรฐานฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม เราจึงมีความจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรฮาลาล และประเทศมุสลิมยอมรับในมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นประชาคมที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง และส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติต่อไป”